ทีมนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงศักยภาพของนวัตกรรุ่นใหม่
ส่งผลงานสุดยอดนวัตกรรมจรวดความเร็วเสียง ชื่อ “เคอร์เซอร์-1” (CURSR-1) เข้าร่วมการแข่งขันจรวดความเร็วเสียงที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับนานาชาติ ในรายการ Spaceport America Cup 2022 ที่จัดขึ้น ณ เมืองลาสครูเซส รัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีนิสิตนักศึกษาจากสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 150 สถาบัน
โดยทีมนิสิต ชั้นปีที่ 2 จำนวน 14 คน จากชมรม CUHAR (ซียูฮาร์) (Chulalongkorn University High Altitude Research Club) หลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ (International school of Engineering :ISE) สาขาวิศวกรรมอากาศยาน (Aerospace Engineering) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สามารถคิดค้น พัฒนาวิศวกรรมจรวดความเร็วเสียง ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ สร้าง และยิงจรวดความเร็วเสียง จนสามารถเป็นตัวแทนของประเทศไทยทีมแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้เข้าร่วมแข่งขันในระดับความสูง 10,000 ฟุต ผลงานสุดยอดนวัตกรรมจรวดความเร็วเสียง “เคอร์เซอร์-1” ของทีมนิสิตคณะวิศวฯ จุฬาฯ นั้นได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ Dr.Gil Moore Award ด้านความเป็นเลิศแห่งนวัตกรรมการออกแบบจรวดความเร็วเสียง โดยได้รับรางวัลร่วมกับทีมจากประเทศสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ส่วนการทดสอบยิงจรวดจริง ได้คะแนนเป็นอันดับที่ 53 จากทั้งหมด 150 ทีมทั่วโลก
นายภูวิศ เชาวนปรีชา ประธานชมรมซียูฮาร์ นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ปี 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จรวดความเร็วเสียง “เคอร์เซอร์-1” เป็นจรวดลำแรก ของทีมนิสิตคณะวิศวฯ จุฬาฯ และลำเดียวจากประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ ซึ่งจรวดลำนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจของเพื่อนๆ ทุกคนในชมรมฯ ที่ต้องการพัฒนาจรวดฝีมือคนไทย ซึ่งสำหรับนิสิตในไทย ยังมีข้อจำกัดในการหาเชื้อเพลิง รวมถึงที่ฝึกยิง ทำให้คณะกรรมการต่างพากันชื่นชม และตะลึงในความสามารถของนิสิตไทย ที่สามารถคิดค้นจรวดได้ ทั้งที่ไม่มีพื้นที่ฝึกยิง แต่ใช้เทคนิคเฉพาะด้านในการทดสอบควบคุมสั่งการแทน และยังเป็นจรวดที่มีศักยภาพสูงเทียบเท่ากับจรวดของประเทศอื่นที่มีพื่นที่ในการฝึกยิง และมีความพร้อมในการผลิตจรวด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับคำแนะนำจากท่านคณบดี ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล รวมถึงคณาจารย์ที่ปรึกษาโครงการทุกท่าน
ดร.พิทักษ์พงษ์ รัตนไกรคณากร อาจารย์ประจำหลักสูตร หลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ (ISE) สาขาวิศวกรรมอากาศยาน (Aerospace Engineering) เปิดเผยว่า ความสำเร็จของนิสิตกลุ่มนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จ ของการศึกษาไทยด้วยเช่นกัน เพราะหลักสูตร ISE สาขาวิศวกรรมอากาศยาน ของคณะวิศวฯ จุฬาฯ นั้น สอนให้นักศึกษาสร้างระบบความคิด ในการผลิตผลงานนวัตกรรมต่างๆ เช่นเดียวกับนิสิตกลุ่มนี้ที่สามารถผลิตจรวดได้รางวัลระดับโลก ดังนั้นสำหรับเยาวชนด้านไหนที่สนใจเกี่ยวกับจรวด หรือมีความฝันเกี่ยวกับการสร้างผลงานออกไปนอกอากาศยาน สามารถเข้ามาศึกษา หรือ เรียนในหลักสูตร หลักสูตรนานาชาติ (ISE) สาขาวิศวกรรมอากาศยาน (Aerospace Engineering) ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ ซึ่งเปิดกว้างให้กับเยาวชนทุกคนได้แสดงศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่